[email protected]

เบอร์โทร 045-969-849

1 ต.ค. 2020 03:10:00 ผลิตภัณฑ์ในตำบล องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยเหนือ 756

แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญเกิดมาจากองค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาทางด้านวัฒนธรรม/ความสำคัญ

                    ชาวบ้านสะอางในอดีตใช้ภูมิปัญญาเพื่อช่วยเหลือตัวเอง ผลิตปัจจัยการดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น ครุตักน้ำไว้ใช้สอยในครัวเรือน เพราะพื้นที่บริเวณเขตอำเภอขุขันธ์ และบ้านสะอาง มีสภาพเป็นป่าเบญจพรรณ มีต้นสะแบง ให้ผลผลิตน้ำมันยาง (ขี้ยาง) และต้นจิกให้ผลผลิตชัน (ขี้ซี) นำมาผสมกัน ใช้สำหรับทาครุกันน้ำรั่วซึมใช้สำหรับตักน้ำ แต่ในปัจจุบัน ถูกจับจองเป็นพื้นที่นา คงเหลือต้นไม้ที่ให้ผลผลิตน้ำมันยาง และชันจำนวนน้อยมาก ต้องหาซื้อจากที่อื่นและมีราคาแพง ประกอบกับปัจจุบันไม่นิยมใช้ครุไปตักน้ำ เนื่องจากมีครุสังกะสีที่คงทนกว่าและมีราคาถูกกว่ามาแทนที่ ชาวบ้านจึงเลิกสานครุขนาดใหญ่ขาย ต่อมามีการดัดแปลงหาทางออกเพื่อจะสานครุขายให้ได้ราคาดี ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๙๔ นายบุญทิศ  ดวงจันทร์ ประชาชนชาวบ้านสะอาง   เป็นผู้ดัดแปลงการสานขนาดของครุจากขนาดใหญ่ให้เล็กลง เรียกว่า "ครุน้อย” ครุน้อยที่นายบุญทิศ  ดวงจันทร์ สานเป็นที่สนใจของท้องตลาด จึงมีชาวบ้านทำตามสืบมาจนถึงปัจจุบัน

                    การสืบทอดวัฒนธรรมดั้งเดิมที่กำลังจะสูญหายให้คงอยู่กับเยาวชนรุ่นหลัง พบว่า หลังจากที่ นายบุญทิศ  ดวงจันทร์ เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงสานครุให้เล็กลง อยู่มาวันหนึ่ง เจ้าหน้าที่กองศิลปาชีพ สวนจิตรดา นำโดยหม่อมราชวงศ์จิริกัญญา กิติยากร (โชติกเสถียร) ได้มาเยี่ยมหมู่บ้านนี้ ได้พบเห็นครุน้อย ที่บ้านของคุณเอ็นดู  ศรีแก้ว (ปัจจุบันเป็นหัวหน้ากลุ่มหัตถกรรมจักสานครุน้อย) เป็นที่น่าสนใจจึงมอบหมาย ให้ทำส่งไปยังวังสวนจิตรดา ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันกิจกรรมการจักสานครุน้อยก็เกิดขึ้น มีการจัดตั้งกลุ่มหัตถกรรมจักสานครุน้อยเพื่อเป็นสื่อกลางรับซื้อ และจำหน่ายครุน้อยภายในชุมชน ภายในจังหวัด ต่างจังหวัด และต่างประเทศ ทำให้ชาวบ้านสะอาง มีรายได้ดีขึ้นและการสานครุน้อยทำเป็นอาชีพเสริม รองจากอาชีพการทำนา ทำไร่ ปัจจุบันโรงเรียนบ้านสะอาง (ประชาสามัคคี)  ได้จัดทำหลักสูตรท้องถิ่นเรื่อง การจักสานครุน้อย สอนเด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ ๕-๖ เพื่อให้เยาวชนเห็นคุณค่าทางภูมิปัญญาของปู่ย่าตายายที่เป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน และอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของหมู่บ้านนี้ไว้สืบไป นอกจากนั้น ยังเปิดทำการฝึกอบรมอาชีพการจักสานครุน้อยที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนอำเภอขุขันธ์ วิทยาลัยเทคนิคศรีสะเกษ และชุมชนบ้านตะแบก คุณเอ็นดู ศรีแก้ว  ผู้นำกลุ่มหัตถกรรมจักสานครุน้อย รับเป็นวิทยากรพิเศษฝึกอบรมอาชีพการสานครุน้อยให้แก่เยาวชนผู้สนใจอีกด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ในวิถีชีวิตวัฒนธรรมดั้งเดิมให้สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน พบว่า กลุ่มหัตถกรรมจักสานครุน้อยได้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ครุน้อย จากที่เคยสานครุขนาดใหญ่ดัดแปลงสานให้เล็กลงตามความต้องการของตลาด หลายขนาดจนถึงขนาดจิ๋วและคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ แล้วนำครุน้อยไปประดิษฐ์เป็นพวงกุญแจ พวงองุ่น เข็มกลัด ต่างหู ดอกกุหลาบ ดอกทานตะวัน และครุน้อยขนาดต่าง ๆ เป็นของที่ระลึก ตามความต้องการของท้องตลาดทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น และยังมีการพัฒนาการผลิตตามตัวอย่างแบบที่ลูกค้าต่างประเทศสั่งซื้อด้วย เช่น กรณีของลูกค้าในประเทศญี่ปุ่นส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาให้ชาวบ้านแกะลายสานทำตามแบบผลิตภัณฑ์ที่ต้องการแล้วส่งออกเป็นรายเดือน

                    "ครุน้อย” ถือว่า เป็นเครื่องจักสานที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก เพราะมีขนาดเล็กมากเท่าเม็ดกระดุมเสื้อเม็ดเล็ก เพราะผู้สานจะต้องเหลาไม้ ไผ่เท่ากับเส้นผม หรือเท่ากับเส้นด้าย แล้วใช้ปลายนิ้วค่อยๆ สอดให้เป็นรูปร่างจากนั้นเติมแต่งให้เป็นขาและส่วนที่เป็น "หู” แล้วนำไปชุบกับน้ำมันยาง และชันก็จะได้ ครุน้อยตามขนาดที่ต้องการปัจจุบันได้มีการพัฒนารูปแบบเป็นของตกแต่งบ้าน ของใช้ ของที่ระลึก เช่น  พวงกุญแจ ดอกไม้ พวงผลไม้เข็มกลัดติดเสื้อ ฯลฯ การทำครุน้อยยังเป็นอาชีพเสริมที่ทำรายได้สู่ครอบครัวให้ชาวบ้านสะอางได้เป็นอย่างดี

วัตถุดิบและส่วนประกอบ

                    - ไม้ไผ่สีสุก

อุปกรณ์ทำครุน้อย

                    - ไม้ไผ่นวล ไม้ไผ่สีสุก ไม้ไผ่ลำมะลอก ชนิดใดชนิดหนึ่ง

                    - มีดโต้ ใช้ผ่าไม้ไผ่ให้เป็นชิ้น มีดตอกใช้สำหรับเหลาไม้ไผ่ให้เป็นเส้นตอกตามต้องการ

                    - กรรไกร สำหรรับตัดขอบปากครุน้อยเมื่อสานเสร็จเรียบร้อยแล้ว

                    - เข็มสำหรับเขี่ยเส้นตอกที่สานให้เข้าลายตามที่ต้องการ

                    - น้ำมันยาง สำหรับทาครุก่อนจะนำไปลงชัน เพื่อให้ชันเกาะติด

                   - ชัน ช่วยให้ครุไม่เกิดรอยรั่ว สามารถเก็บน้ำได้ มีวิธีการทำโดยนำครุที่ทาน้ำมันยางแล้วมาเคล้ากับชันที่บดเป็นผงละเอียด

ขั้นตอนการผลิต

                     ขั้นที่ ๑ นำไม้ไผ่มาจักเป็นเส้นตอกตามขนาดที่ต้องการ              

                     ขั้นที่ ๒ นำตอกที่ได้มาเหลาให้เกิดความบางตามต้องการ

                     ขั้นที่ ๓ นำตอกที่บางตามต้องการแล้วนำมาจักเป็นเส้น

                          - เส้นแบน ใช้เนื้อไม้ไผ่ เพราะมีความอ่อนสามารถสานได้ง่าย ไว้สำหรับสานครุ

                         - เส้นแบบกลมใช้ตรงเปลือกไม้ไผ่ที่มีสีเขียวหรือที่เรียกว่าผิวไม้ไผ่  ไว้สำหรับม้วนตัวครุ  (มีความแข็ง ทำให้ครุมีรูปทรงที่สวยงาม)

                      ขั้นที่ ๔ นำตอกแบนมาตัดแบ่งตามขนาดของครุ เพื่อนำมาเริ่มต้นสานครุ

                      ขั้นที่ ๕ เมื่อนำตอกเส้นกลมมาสานเริ่มตัวครุสานจนรอบแล้ว ประมาณ ๒ รอบ ให้นำตอกแข็งมาขัด ก้นครุทำขวางกันทั้ง ๒ ด้าน

                      ขั้นที่ ๖ เมื่อสานตัวครุได้ ประมาณ ๓ รอบ ให้เริ่มหักมุมก้นครุด้วยลายขึ้น ๑ ลง ๓ ไปเรื่อยๆ จนรอบตัวครุ

                      ขั้นที่ ๗ เมื่อสานตัวครุได้ขนาดตามต้องการแล้วตัดขอบปากให้ตอกมีความเสมอกัน

                       ขั้นที่ ๘ เมื่อตัดตอกมีความเสมอกันแล้วเริ่มสานขอบปากครุด้วยตอกกลม ๔ เส้น เริ่มตน        ด้วยการ ขึ้น ๓ ลง ๕ ทำอย่างนี้ไปเอย ๆ ทำพร้อม ๆ กัน ทั้ง ๔ เส้น จนได้ขนาด แล้วจึงตัดขอบปากออก

                       ขั้นที่ ๙ เมื่อสานขอบปากเสร็จเรียบร้อยแล้ว ตัดตอกที่เหลือออกให้เรียบร้อย

                       ขั้นที่ ๑๐ เมื่อตัดปากเรียบร้อยแล้วนำตอกกลมมาใส่เป็นขาครุทั้ง ๔ ข้าง

                       ขั้นที่ ๑๑ เมื่อใส่ขาเรียบร้อยแล้วเสียบ "งวง” ที่จับก็ได้ตัวครุน้อยที่สมบูรณ์

                       ขั้นที่ ๑๒ นำครุที่สานเรียบร้อยแล้ว นำมาชุบน้ำมันยาง โดยชุบให้ทั่วครุ

                       ขั้นที่ ๑๓ นำครุที่ชุบน้ำมันยางแล้วมาคลุกชันเพื่อกันรั่วแล้วนำไปผึ่งแดด ให้แห้งแล้วนำไปล้าง  ด้วยน้ำมันก๊าดแล้วขัดเงาด้วยการทาแล็กเกอร์

วิธีสานครุน้อย

                       ขั้นที่ ๑ เริ่มจากการสาน ก้นครุก่อนโดยนำเอาตอกแบบที่ตัดไว้ตามขนาดที่ต้องการมาขึ้น ก้นครุ     โดยใช้ตอกแบน ๓ เส้น เป็นตัวยืนในการสาน กับเส้นที่หนึ่งเริ่มสานขึ้น ๑ ลง ๑ ทำสลับกันกับตัวยืน ๓ เส้น เช่นเดียวกับเส้นที่หนึ่ง ทำอย่างเส้นที่สองสลับกันไปจนครบ ๑๑ เส้น

                       ขั้นที่ ๒ นำตอกแบนมาสานต่อจากขั้นที่ ๑ โดยใช้ตอก ๑๑ เส้นเช่นเดียวกัน โดยเส้นที่หนึ่งจะขึ้น    ต้นด้วย ขึ้น ๒ ลง ๓ ขึ้น ๓ เส้นที่สองจะลง ๑ ขึ้น ๒ ลง ๓

                       ขั้นที่ ๓ นำตอกกลมมาสานเป็นตัวครุ เริ่มต้นด้วย ขึ้น ๑ ลง ๓ ขึ้น ๓ ลง ๓ ขึ้น ๑ ลง ๓ ทำเช่นนี้    จนรอบแล้วดึงเส้นยืน ๓ เส้นออก การแปรรูปผลิตภัณฑ์ "ครุน้อย” เป็นเครื่องประดับ, เข็มกลัดติดเสื้อ, ต่างหู, แจกันดอกไม้, ของที่ระลึก, กรอบรูปพวงองุ่น สร้างรายได้ให้กับตนเอง/ชุมชนอย่างไรบ้าง

                       "ครุน้อย” เป็นงานจักสานที่ต้องใช้ความสามารถเฉพาะตัวและความอดทนของผู้สาน สร้างรายได้ให้กับสมาชิกเฉลี่ยแล้ว คนละประมาณ ๒๕,๐๐๐ บาทต่อปี เงินทุนหมุนเวียนของกลุ่มประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ บาท มีพ่อค้าสั่งทำและนำไปจำหน่ายตามร้านขายของที่ระลึกของจังหวัด และกรุงเทพมหานคร

 

ผู้ที่สนใจเรียนทำครุน้อยบ้านสะอาง

               หน่วยงาน จากทั้งสถาบันการศึกษา กลุ่มบุคคล ศึกษาดูงานเพื่อนำความรู้และรูปแบบความจิ๋วของครุน้อยไปพัฒนางาน

ของกลุ่มตนเอง และเพื่อฝึกทักษะอาชีพ

To Top ↑